ปัญหาจราจรของกรุงเทพฯและการแก้ไข
25 เมษายน 2548
เสนอแนวคิดโดย
น.พ. สมเกียรติ อธิคมกุลชัย (
โทร. 081-917-5132 )
สาเหตุ มีการใช้รถส่วนตัวกันมาก ( รถเก๋ง รถปิคอัพ รถมอเตอร์ไซค์
) และมากขึ้นเรื่อยๆทุกๆวัน รวมทั้งรถสาธารณะคันเล็กคันน้อย ( รถตู้ แท็กซี่ สามล้อ
สองแถวเล็ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง) แก่งแย่งกันใช้พื้นที่ถนนที่อยู่อย่างจำกัด สับสนอลหม่าน
จนจราจรกลายเป็นจลาจล
การแก้ปัญหา ถ้าคิดตื้นๆหรือคิดเพียงชั้นเดียว คำตอบที่ง่ายที่สุดและทำกันมานานก็คือ
เมื่อรถมีมากและถนนมีน้อยกว่า ก็สร้างถนนมากๆ สร้างทางด่วนมากๆ สร้างทางยกระดับหรืออุโมงค์ผ่านทางแยกทุกแห่ง
สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามากๆ ผลลัพธ์ก็คือ เราจะได้กรุงเทพฯที่มีหน้าตาเหมือนสวนสนุก
มีถนนลอยฟ้าพาดซ้อนไปมาหลายๆชั้น มลพิษในอากาศทั้งฝุ่นละอองและควันพิษ จะปกคลุมไปทั่วเมือง
เพียงแค่แนวรางและสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบัน ก็ก่อมลพิษในบางจุดเข้าขั้นอันตรายแล้วครับ
ถ้าในอนาคต ทั้งเมืองเต็มไปด้วยมลพิษในอากาศ เราจะอยู่กันอย่างไร ?
คำถามต่อไป
ถ้าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีง่ายๆแบบนี้ เราจะหาเงินจำนวนมหาศาลจากที่ไหนมาสร้าง ? และจะต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะสำเร็จ
? ( ต้องแข่งกับจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นทุกวัน )
ฉะนั้น
นี่คือคำตอบว่า ทำไมการแก้ปัญหาจราจรในบ้านเรา ไม่ประสบความสำเร็จเสียที ปัญหามีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน
จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับกาลเวลาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน
เราเดินผิดทางและหลงทางกันมานาน
การแก้ปัญหาจราจร ซึ่งรวมถึงการพัฒนาเมืองใหญ่ๆในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก เขาใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก ฉะนั้น เราต้องกำหนดเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ของเมืองให้ชัดเจน จึงจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ ระบบขนส่งมวลชนที่จะสนองความต้องการของคนในเมืองได้ จะต้องมีคุณภาพ มีความปลอดภัย ไปได้รวดเร็ว สามารถกำหนดเวลาในการเดินทางได้ และราคาค่าโดยสารอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถใช้บริการได้ทุกวันทำงานโดยไม่เดือดร้อน ประชาชนจึงจะลดการใช้รถส่วนตัวลงและเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น ถึงตอนนั้น ปริมาณการจราจรก็จะลดลงเอง เนื่องจากประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่า คือ ระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพและครอบคลุมพื้นที่ในการเดินทาง
ระบบขนส่งมวลชนที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่
1. รถเมล์ มีปัญหาหลักในเรื่องคุณภาพและการบริการ แต่เป็นระบบขนส่งมวลชนที่สามารถครอบคลุมพื้นที่บริการได้กว้างกว่า
ใกล้ที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของประชาชนมากที่สุด การจะพัฒนารถเมล์ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของประชาชน
เป็นเรื่องไม่ยาก และใช้เวลาไม่นาน ไม่เกินกำลังเศรษฐกิจของประเทศที่จะลงทุนพัฒนาและไม่เกินกำลังของประชาชนที่จะใช้บริการได้เป็นประจํา
2. รถไฟฟ้า บีทีเอส คุณภาพดีมาก แต่การครอบคลุมพื้นที่บริการยังน้อยมาก
หากจะเร่งสร้าง ต้องใช้งบลงทุนจำนวนมหาศาล เกินกำลังเศรษฐกิจของประเทศ และเกินกำลังของประชาชนที่จะเสียค่าโดยสารในเส้นทางที่เพิ่มขึ้น
และที่เป็นปัญหาสำคัญของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็คือ แนวรางและสถานีที่สร้างบนใจกลางถนนที่มีอาคารอยู่สองข้างทางในบริเวณกรุงเทพฯชั้นใน
ก่อให้เกิดปัญหามลพิษของอากาศในบริเวณใต้สถานี ปัญหาเสียงล้อบดราง และโครงสร้างที่ทำลายสภาพภูมิทัศน์ของเมือง
3. รถไฟใต้ดิน เหมือนรถไฟฟ้า บีทีเอส แต่ไม่ก่อปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของเมือง
ดังนั้น ระบบขนส่งมวลชนที่น่าจะเป็นตัวเลือกเพื่อใช้แก้ปัญหาจราจรกรุงเทพฯในระยะเร่งด่วน
คือ ระบบรถเมล์โดยสาร
เปรียบเทียบงบลงทุนระหว่างระบบรถเมล์ด่วนขนส่งมวลชน และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
เปรียบเทียบในงบลงทุนที่เท่ากัน ระบบรถเมล์ด่วนขนส่งมวลชน จะได้เส้นทางมากกว่าระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ประมาณ 20 เท่า
ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของประเทศมาเลเซีย หลังจากเปิดดำเนินการ 3 ปี บริษัท Putra
ขาดทุน 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัท Star ขาดทุน 315 ล้านเหรียญสหรัฐ
หัวข้อ ปัญหาจราจรของกรุงเทพฯและการแก้ไข ระบบรถเมล์ด่วนขนส่งมวลชน นโยบายด้านจราจรและขนส่งในระดับชาติ
บทความอ่านประกอบเพื่อทำความเข้าใจในวิธีการแก้ปัญหาจราจร รายละเอียดแผนดำเนินการ
ค่าธรรมเนียมรถติด ช่วยแก้ปัญหาจราจร